ตรวจสอบอาคาร...รับมือแผ่นดินไหว
รายการตรวจสอบเบื้องต้นหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว สำหรับฝ่ายบริหารอาคาร นอกจากการตรวจสอบรอยแตกร้าวของโครงสร้างและวัสดุของอาคารแล้ว ฝ่ายบริหารอาคารควรตรวจสอบรายการต่อไปนี้ทันทีหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว
1. ลิฟต์ ตรวจสอบโดยการให้ลิฟต์วิ่งขึ้นลงจากล่างสุดถึงบนสุดเพื่อตรวจว่ามีการติดขัดหรือมีความสั่นสะเทือนผิดปกติหรือไม่
2. ท่อน้ำ ตรวจสอบในช่องท่อน้ำแนวดิ่ง อันได้แก่ ท่อน้ำประปา ท่อน้ำดับเพลิง ท่อน้ำระบบปรับอากาศ เพื่อตรวจว่ามีท่อแตกรั่วซึมหรือไม่
3. ท่อก๊าซหุงต้ม ตรวจสอบที่ตั้งถังก๊าซและตลอดแนวท่อก๊าซ เพื่อตรวจว่ามีการรั่วซึม หรือ มีกลิ่นก๊าซหุงต้มหรือไม่
4. ถังน้ำประปา ตรวจสอบถังน้ำประปาบนชั้นหลังคา หรือชั้นกึ่งกลางอาคาร (ถ้ามี) เพื่อตรวจสอบว่ามีความเสียหายหรือไม่
5. สายไฟฟ้าและตัวนำไฟฟ้าแนวดิ่ง ตรวจสอบในห้องไฟฟ้าประจำชั้นเพื่อตรวจว่ามีการลัดวงจร มีกลิ่นไหม้ มีความร้อน หรือมีสิ่งผิดปกติหรือไม่
6. ท่อระบายความร้อน (Cooling Tower) ตรวจสอบความเสียหาย ความมั่นคงแข็งแรงเพื่อตรวจสอบว่ามีการแตกร้าว น้ำรั่ว ยึดติดมั่นคงแข็งแรงอยู่กับฐานหรือไม่
7. สิ่งของร่วงหล่นได้ ตรวจสอบการร่วงหล่นของสิ่งของรอบอาคารเพื่อตรวจสอบว่าของที่ยึดกับตัวอาคาร เช่น เครื่องปรับอากาศ กระถางต้นไม้ วัสดุอาคาร มีการหลุดร่วงหรือไม่
รายการตรวจสอบอาคารปลอดภัยเบื้องต้น
1. บันไดหนีไฟปลอดภัย ป้ายบอกทางเข้าประตูบันไดหนีไฟเห็นได้ชัดเจน ประตูบันไดหนีไฟเปิดเข้าได้ตลอดเวลา ภายในบันไดหนีไฟไม่มีสิ่งกีดขวางทางเดิน ภายในบันไดหนีไฟมีแสงสว่างเพียงพอ เมื่อถึงชั้นล่างแล้วประตูสามารถเปิดออกสู่ภายนอกได้ และภายในบันไดหนีไฟมีไฟแสงสว่างฉุกเฉินจากแบตเตอรี่ (ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมขนาด 40x30 ซม. พร้อมไฟ 2 ดวง)
2. ไฟฟ้าสำรองจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เมื่อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าดับ อาคารมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง จ่ายไฟแสงสว่างในทางเดินและภายในบันไดหนีไฟ สังเกตได้โดยในวันที่มีไฟดับ ภายใน 10 วินาที ต้องมีไฟแสงสว่างบางดวงติดขึ้นมา และไฟแสงสว่างทุกดวงในบันไดหนีไฟต้องติดขึ้นมา
3. มีสปริงเกลอร์ดับเพลิง อาคารที่มีระบบสปริงเกลอร์จะปลอดภัยกว่าอาคารที่ไม่มีมาก หากเกิดไฟไหม้ขึ้นระบบสปริงเกลอร์จะดับไฟให้อัตโนมัติโดยไม่ต้องพึงพาคน สังเกตได้โดยง่ายว่าที่เพดานมีหัวสปริงเกลอร์(หัวโลหะเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 ซม.มีกระเปาะน้ำยาสีแดง)
4. ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ใช้งานได้ สัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้จะแจ้งเตือนให้อพยพตั้งแต่ไฟเพิ่งเริ่มต้น (เพียงควันเล็กน้อยก็ตรวจจับได้)สังเกตว่าใช้งานได้ในวันซ้อมอพยพหนีไฟประจำปี
5. หนังสือรับรองการตรวจสอบอาคารประจำปี การตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารประจำปีโดยวิศวกรและสถาปนิกเป็นเหมือนการตรวจสุขภาพประจำปี หากมีปัญหาจะได้แก้ไขทันทวงที ประชาชนทั่วไปร้องขอเพื่อตรวจสอบหนังสือรับรองการตรวจสอบอาคารซึ่งออกโดยเจ้าพนักงานท้องถิ่น เช่น กทม. หรือ องค์กรส่วนท้องถิ่นจากเจ้าของอาคาร
(ขอบคุณ คุณจักรพันธ์ ภวังคะรัตน์ ประธานคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เอื้อเฟื้อข้อมูล)
สยามรัฐ เอส แมกกาซีน เดือนเมษายน 2554
|