ReadyPlanet.com
dot dot




จังหวัดบึงกาฬ article
 
จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดที่ 77 ของประเทศไทย
              จังหวัดบึงกาฬ เป็นจังหวัดในประเทศไทย จัดตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติตั้งจังหวัดบึงกาฬ พ.ศ. 2554 อันมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2554 เป็นต้นไป โดยแยกอำเภอบึงกาฬ อำเภอเซกา อำเภอโซ่พิสัย อำเภอบุ่งคล้า อำเภอบึงโขงหลง อำเภอปากคาด อำเภอพรเจริญ และอำเภอศรีวิไล ออกจากการปกครองของจังหวัดหนองคาย
              การจัดตั้งใน พ.ศ. 2537 สุเมธ พรมพันห่าว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเสรีธรรม จังหวัดหนองคาย เสนอให้จัดตั้งจังหวัดบึงกาฬขึ้น โดยกำหนดจะแยกพื้นที่อำเภอบึงกาฬ อำเภอปากคาด อำเภอโซ่พิสัย อำเภอพรเจริญ อำเภอเซกา อำเภอบึงโขงหลง อำเภอศรีวิไล และอำเภอบุ่งคล้า ออกจากจังหวัดหนองคาย รวมเป็นท้องที่ทั้งหมด 4,305 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรประมาณ 390,000 คน อย่างไรก็ดี กระทรวงมหาดไทย แจ้งผลการพิจารณาว่า ยังไม่มีแผนที่จะยกฐานะอำเภอบึงกาฬขึ้นเป็นจังหวัด เพราะการจัดตั้งจังหวัดใหม่เป็นการเพิ่มภาระด้านงบประมาณ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มกำลังคนภาครัฐ ซึ่งจะขัดกับมติคณะรัฐมนตรี

โครงการร้างมาเกือบ 20 ปี กระทั่ง พ.ศ. 2553 กระทรวงมหาดไทย ได้นำเรื่องการจัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง เพื่อยก "ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ พ.ศ. ..." ผลการสำรวจความเห็นของประชาชนจังหวัดหนองคายในคราวเดียวกัน ปรากฏว่า ร้อยละ 98.83 เห็นด้วยกับการจัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ 
ต่อมา วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2553 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้จัดตั้งจังหวัดบึงกาฬโดยให้เหตุผลว่า

- เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในเรื่องอำเภอ จำนวนประชากร และลักษณะพิเศษของจังหวัด อีกทั้งยังเป็นผลดีต่อการให้บริการแก่ประชาชน,
- จังหวัดหนองคายเป็นพื้นที่แนวยาวทอดตามแม่น้ำโขง จึงมีผลต่อการรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยตามแนวชายแดน,
- จังหวัดหนองบัวลำภูและจังหวัดอำนาจเจริญที่เคยตั้งขึ้นใหม่ก็มีเนื้อที่น้อยกว่าหลักเกณฑ์มติคณะรัฐมนตรีเช่นกัน,
- จังหวัดที่ตั้งขึ้นใหม่ไม่ให้บริการสาธารณะซ้ำซ้อนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ
- บุคลากรจำนวน 439 อัตรา สามารถกระจายกันในส่วนราชการได้ ไม่มีผลกระทบมากนัก

ต่อมารัฐสภาได้มีมติเห็นชอบ "ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ พ.ศ. ..." เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีจึงถวายร่างพระราชบัญญัติให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงลงพระปรมาภิไธย โดยทรงลงเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 นำประกาศเป็น "พระราชบัญญัติตั้งจังหวัดบึงกาฬ พ.ศ. 2554" ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2554 และใช้บังคับในวันรุ่งขึ้น เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติ มีว่า
"...เนื่องจากจังหวัดหนองคายเป็นจังหวัดที่มีท้องที่ติดชายแดน และมีลักษณะภูมิประเทศเป็นแนวยาว ทำให้การติดต่อระหว่างอำเภอที่ห่างไกลและจังหวัดเป็นไปด้วยความยากลำบาก และใช้ระยะเวลาในการเดินทางมากเกินควร ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการจัดระเบียบการปกครอง การรักษาความมั่นคง และการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในท้องที่ สมควรแยกอำเภอบึงกาฬ อำเภอเซกา อำเภอโซ่พิสัย อำเภอบุ่งคล้า อำเภอบึงโขงหลง อำเภอปากคาด อำเภอพรเจริญ และอำเภอศรีวิไล จังหวัดหนองคาย ออกจากการปกครองของจังหวัดหนองคาย รวมตั้งขึ้นเป็นจังหวัดบึงกาฬ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้"
นอกจากมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่ให้จัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ โดยมีองค์ประกอบเป็นอำเภอทั้งแปดข้างต้นแล้ว มาตรา 4 ยังให้เปลี่ยนชื่อ "อำเภอบึงกาฬ" เป็น "อำเภอเมืองบึงกาฬ" ด้วย

เมื่อวันที่ 22-23 มีนาคม พ.ศ. 2554 ได้มีการจัดงานฉลองจังหวัดบึงกาฬอย่างยิ่งใหญ่ โดยมีนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานในพิธี
ภูมิประเทศ บึงกาฬเป็นจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง มีน้ำตก มีภูเขา เป็นจังหวัดที่มีเขตพื้นที่ติดต่อกับแม่น้ำโขง และแขวงบอลิคำไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

- ทิศเหนือ ติดต่อกับแขวงบอลิคำไซ, สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีแม่น้ำโขงเป็นแนวพรมแดน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับแขวงบอลิคำไซ, สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและจังหวัดนครพน
- ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดสกลนคร
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับนครหลวงเวียงจันทน์, สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและจังหวัดหนองคาย

สถานที่ท่องเที่ยว

1.วัดอาฮงศิลาวาส ตั้งอยู่บนเนื้อที่ประมาณ 80 ไร่ บ้านอาฮง ตำบลไคสี อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย ห่างจากตัวอำเภอบึงกาฬ 21 กิโลเมตร และห่างจากตัวจังหวัดหนองคาย 115 กิโลเมตร วัดอาฮงศิลาวาส เป็นวัดเก่าแก่แต่ไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่า เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อใด จากคำบอกเล่า ทราบแต่เพียงว่าเดิมเป็นสำนักสงฆ์ และเนื่องจากวัดตั้งอยู่ในป่าที่รกทึบ จึงเรียกว่า “วัดป่า” โดยหลวงพ่อลุน เป็นผู้ก่อตั้ง ท่านได้มรณะไปเมื่อปี พ.ศ. 2506 ด้วยโรคชรา หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็ไม่มีพระภิกษุสงฆ์มาจำพรรษาอีกเลย หากจะมีบ้างก็เป็นเพียง พระธุดงค์ที่จาริกผ่านมาพักบำเพ็ญเพียรภาวนาชั่วครั้งชั่วคราวแล้วก็จากไป สภาพวัดในสมัยนั้นแทบเรียกว่าวัดร้าง แต่ถึงแม้ไม่มีพระสงฆ์ จำพรรษาก็ยังมีคุณยายชีท่านหนึ่ง ซึ่งนับว่าเป็นบรรพบุรุษของชาวบ้านอาฮงคอยเฝ้ารักษาดูแล

2. เจ้าแม่สองนาง ตามที่ได้รับฟังคำบอกเล่าจากผู้เฒ่ามาคือ พ่อตู้จ้ำนาค สุริยะกาญจน์ (จ้ำ หมายถึง คนดูแลศาลเจ้า) และพ่อตู้เฮือง ผิวเฟื่อง (ปัจจุบันอยู่คุ้มเหนือ) เล่าว่า              เมื่อปี พ.ศ. 2137 เกิดศึกฮ่อ ได้ขับไล่คนไทยออกจากลุ่มแม่น้ำโขง ลงมาทางตอนใต้ พวกเผ่าพันธุ์ไทยเดิมก็อพยพลงมาตามแม่น้ำโขง มาปักหลักอยู่หลายแห่ง แบ่งกันอยู่คนละมุมตามลุ่มแม่น้ำโขงในช่วงอพยพลงมา ในช่วงอพยพลงมา พ่อตู้พรมก็ได้เสียเมียรักไปด้วยโรคอหิวาในกลางทาง เหลือแต่ลูกสาวสองคน คือ นางสมสี และนางบัวลี จึงเดินทางต่อลงมาในเขตชัยบุรี (อ.บึงกาฬ ปัจจุบัน)
พ่อพรมเป็นผู้มีวิชาอาคมแก่กล้า ก็ไปอยู่ดอนหอทุ่ง(กุดทิง ปัจจุบัน) ให้ลูกสาวสองคนอยู่ที่หนองบึงกาฬ แต่สองคนไม่ยอมแต่งงานขออยู่เป็นโสดตลอดไป ต่อมาผู้เป็นพ่อก็เสียชีวิตลง ลูกทั้งสองก็เอาศพไว้ ณ ที่ดอนหอทุ่ง (กุดทิงปัจจุบัน) สองคนพี่น้อง นางสมสี และนางบัวลี ก็ล้มป่วยลงเพราะขาดแม่ ขาดพ่อ ได้เอาสุสานไปเก็บไว้บริเวณบ้านของตู้จารย์มา ต้นหาบึ้ง (ที่ธนาคารกสิกรไทย) หลังจากนั้นมา เมื่อปี 2498 ได้ย้ายศาลมาอยู่ที่มุมทางเข้า รพ. ปัจจุบัน และได้ย้ายศาลเจ้าแม่สองนางมาอยู่ที่ปัจจุบัน จนทุกวันนี้เจ้าแม่สองนางเป็นศาลอันศักดิ์สิทธิ์ทั่วสารทิศผู้คนไปมาได้กราบไหว้บูชา ขอพรให้เจริญรุ่งเรือง บริเวณที่สร้างศาลเจ้าแม่สองนางปัจจุบันแต่ก่อนมีต้นพุทราอยู่สองต้นลูกดก ทางราชการต้องการย้ายศาลเจ้าแม่สองนางไปที่อื่น พอไปดูทางโหราศาสตร์ แล้วบอกว่า ย้ายไม่ได้ขออยู่ที่เดิม เพราะมองเห็นแม่น้ำโขงตลอดทั้งปี

3. แก่งอาฮง เป็นแก่งหินกลางลำน้ำโขง บริเวณหน้าวัดอาฮงศิลาวาส บ้านอาฮง ตำบลหอคำ ถือว่าเป็นจุดที่แม่น้ำโขงมีความลึกที่สุดไม่สามารถวัดความลึกได้ กระแสน้ำบริเวณแก่งอาฮงจะไหลเชี่ยวมากในฤดูน้ำหลากและมีกระแสน้ำไหลวนเป็นรูปกรวยขนาดใหญ่ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็น “สะดือแม่น้ำโขง” แม่น้ำโขงบริเวณแก่งอาฮงมีความกว้างประมาณ  300  เมตร  ในฤดูน้ำลด  และมีความกว้าง  400  เมตร  ในฤดูน้ำหลาก และจะสามารถมองเห็นแก่งได้ในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคมของทุกปี และกลุ่มหินที่ปรากฎบริเวณแก่งอาฮงจะมีชื่อเรียกตามลักษณะของหิน เช่น หินลิ้น นาค หินปลาเข้ ถ้ำปลาสวาย นอกจากจะเป็นแหล่งพักผ่อนและสถานที่ท่องเที่ยวของอำเภอบึงกาฬและเป็นสถานที่เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ คือ“บั้งไฟพญานาค” ในช่วงประเพณีออกพรรษา จะมีนักท่องเที่ยวมาพักเที่ยวชมปรากฏการณ์ธรรมชาติ ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค บริเวณบ้านอาฮงเป็นจำนวนมาก  จะมีมากในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ที่ปฏิทินไทย กับปฏิทินประเทศ สปป.ลาวตรงกัน และชาวบ้านโดยรอบยังอาศัยทำการประมงด้วย

4. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว กรมป่าไม้เริ่มทำการสำรวจเบื้องต้นป่าภูวัว เมื่อ พ.ศ. 2507 และพบว่าป่าแห่งนี้เป็นแหล่งต้นน้ำ ลำธารที่สำคัญ สภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์ และมีสัตว์ป่าชุกชุม สมควรที่จะจัดตั้งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 จึงได้จัดส่งเจ้าหน้าที่อีกคณะหนึ่งเข้าไปทำการสำรวจอย่างละเอียด และทำการรังวัดหมายขอบเขตเพื่อทำการประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าต่อไปแต่เนื่องจากสถานการณ์ไม่เป็นที่น่าไว้วางใจและพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่แทรกซึมของผู้ก่อการร้าย การดำเนินงานต่าง ๆ จึงต้องหยุดชะงักลง จนถึงปี พ.ศ. 2517 เมื่อสถานการณ์ต่าง ๆ ภายในพื้นที่ป่าภูวัวคลี่คลายลง กรมป่าไม้จึงได้ดำเนินการต่อไปจนสามารถนำเรื่องเสนอขอความเห็นจากคณะรัฐมนตรีและตราพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ป่าภูวัว ให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 92 ตอนที่ 87 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2518 มีเนื้อที่ประมาณ 186.5 ตารางกิโลเมตร หรือ 116,562 ไร่ อยู่ในท้องที่ตำบลหนองเดิ่น ตำบลบุ่งคล้า ตำบลโคกกว้าง อำเภอบุ่งคล้า ตำบลบ้านต้อง ตำบลโสกก่าม อำเภอเซกา ตำบลชัยพร อำเภอบึงกาฬ และตำบลท่าดอกคำ อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดหนองคาย และในปี พ.ศ. 2533 ได้มีการรังวัดฝังหลักเขตรอบพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับหน่วยพิทักษ์ป่าถ้ำฝุ่น ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงภูวัว ยังมีความอุดมสมบูรณ์และมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ จึงได้ผนวกพื้นที่บริเวณนี้เข้าเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว เนื้อที่ประมาณ 8,100 ไร่ รวมมีเนื้อที่ทั้งสิ้น 124,662 ไร่

5. หลวงพ่อพระใหญ่ บ้านท่าไคร้ วัดโพธาราม บ้านท่าไคร้ หมู่ที่ 5 ต.บึงกาฬ อ.บึงกาฬ จ.หนองคายหลวงพ่อพระใหญ่เป็นพระพุทธรูปปรางมารวิชัย โบกฉาบด้วยปูนองค์หลวงพ่อมีขนาดดังนี้
- หน้าตักกว้าง 2 เมตร
- จากฐานถึงยอดพระเกศสูง 2.10 เมตร
- จากพระฌาน ุ(เข่า) ถึงพระศอ (คอ) สูง 0.90 เมตร
พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนหน้าตัก พระหัตถ์ขวาคว่ำวางทับพระฌานุ นิ้วพระหัตถ์ทั้ง 5 เหยียดลงอย่างมีระเบียบเหมือนพระพุทธรูปทั่วๆ ไปประดิษฐานบนแท่น 4 เหลี่ยม ซึ่งได้บูรณะขึ้นใหม่ในปี 2537 นี้
ตามตำนานและคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่หลายรุ่น หลายสมัยเล่าสืบต่อกันมาประมาณสองพันกว่าปีมาแล้ว จนถึงยุคสมัยหลังๆ ซึ่งแต่ก่อนคนเหล่านี้ส่วนมากได้อพยพครอบครัวมาจากเมืองยศ (บริเวณจังหวัดยโสธรในปัจจุบัน) มาตั้งถิ่นฐานริมฝั่งแม่น้ำโขงและร่นขึ้นมาทางเขตชัยบุรี (ปัจจุบันคืออำเภอบึงกาฬ) การตั้งถิ่นฐานอยู่นั้นก็เหมือนกันทุกยุคทุกสมัย คือที่ใดไม่เหมาะสมในการดำรงชีวิต ต้องประสบกับภัย และมีการระบาดของโรคร้ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคอหิวา โรคไข้ฝีดาด ถูกรบกวนจากสัตว์ร้ายหรือภูตผีปีศาจต่างๆ ก็พากันหลบหนีภัยย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ เพื่อหาที่เหมาะสมต่อไป ชนกลุ่มนี้ก็เหมือนกันย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ เพื่อหาที่เหมาะสม จนถึงบ้านท่าไคร้ในปัจจุบัน เมื่อเห็นเป็นที่เหมาะสมดีก็ตกลงใจกันตั้งหลักฐานที่จะหากินในบริเวณนี้

6. หนองกุดทิง  เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่มีความกว้างโดยเฉลี่ย  22,000  ไร่  ลึก 5-10 เมตร มีความหลากหลายทางชีวภาพประกอบด้วยสัตว์น้ำกว่า  250  สายพันธุ์  มีปลาที่เป็นเอกลักษณ์ไม่มีที่ใดในโลก  20  สายพันธุ์    พืชน้ำกว่า  200  ชนิดเป็นที่ทำมาหากินของประชาชนในบริเวณนั้นกว่า  2,000  ครัวเรือน  มีนกพันธุ์ต่างๆกว่า  40  ชนิด  ด้วยความอุดมสมบูรณ์ดังกล่าวจึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลกแห่งที่สองของจังหวัดหนองคาย  และมีที่อนุรักษ์เด็ดขาดคือ ไม่ให้คนผ่านไป  เลี้ยงสัตว์ จับสัตว์ทุกชนิดในบริเวณนั้นมากกว่า  5  แห่ง  จึงมีนกและสัตว์น้ำอาศัยอยู่เพื่อเพาะพันธุ์อย่างมากมายตลอดทั้งปี   สถานที่ตั้งห่างจากอำเภอเพียง 1 กม.
จังหวัดบึงกาฬ   จังหวัดใหม่ของประเทศไทย  เป็นจังหวัดเศรษฐกิจติดลุ่มแม่น้ำโขง

 





สาระน่ารู้

จังหวัดน่าน article
นมัสเต เนปาล article
โรงแรมแพงที่สุดในโลก article
สิ่งที่ต้องปฏิบัติหากเกิดแผ่นดินไหว article
ตรวจสอบอาคาร...รับมือแผ่นดินไหว article
เกร็ดน่ารู้ article



Copyright © 2011 All Rights Reserved.
บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด The Syndicate of thai Hotels & Tourists Enterprises Limited
973 อาคารเพรสิเด้นท์ทาวเวอร์ ถนนเพลินจิต เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 Email : saha_hotel@hotmail.com
โทร.0-2656-0044
Copyright © 2011 All Rights Reserved.